วันศุกร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2551

เรื่องเล่าจากฝรั่งเศส ตอนที่ 2 - ชีวิตความเป็นอยู่ในโรงเรียน

หลักสูตรที่ผู้เขียนไปศึกษา คือ ‘หลักสูตรการสอนภาษาฝรั่งเศสในฐานะภาษาต่างประเทศ’ ณ ศูนย์อบรมภาษาของเหล่าทัพ เมืองรอชฟอรต์ (Centre Interarmée du Formation de Rochefort-CIFR) ซึ่งเป็นทุนจากกระทรวงกลาโหมฝรั่งเศส สำหรับครู-อาจารย์ผู้สอนภาษาฝรั่งเศสในเหล่าทัพต่าง ๆ จากนานาประเทศ ศูนย์นี้เป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนตำรวจกลาโหม (Ecole de Gendarmerie) ‘ตำรวจกลาโหม’ (ผู้เขียนเรียกเอง) หรือ gendarmerie (ช็องดามเมอรี) นี้ เป็นหน่วยงานแยกจาก ‘ตำรวจ’ (police) ซึ่งสังกัดกระทรวงมหาดไทย ถ้าจะให้ตอบคร่าว ๆ ว่าสองหน่วยงานนี้ ต่างกันอย่างไร พอจะบอกได้ว่า gendarmerie มีบทบาทในต่างจังหวัดมากกว่า (ประมาณ ‘ตำรวจภูธร’) มีหน้าที่ในการดูแลรักษาความสงบโดยทั่วไป ขณะที่ police มีบทบาทในเมืองหลวง และมีหน้าที่ประเภทสืบสวนสอบสวนคดีต่าง ๆ แต่ก็มีงานบางส่วนที่ซ้อนทับกัน ดูสิคะ ทำให้คนไทยอย่างเราต้องมึนซะอย่างนั้น สรุปว่า โรงเรียนของผู้เขียนไม่ได้อยู่ในค่ายทหาร แต่เป็นค่ายตำรวจ สังกัดกระทรวงกลาโหม ค่ะ

ภาพถ่ายจากดาวเทียม: ศูนย์ภาษา CIFR และ Ecole de Gendarmerie


ศูนย์ภาษา CIFR เป็นเพียงตึกเล็ก ๆ ชั้นเดียว รูปสี่เหลี่ยม มีสวนตรงกลาง ประกอบด้วยห้องเรียนประมาณ 10 ห้อง นอกนั้น เป็นห้องพักอาจารย์และผู้บังคับบัญชา ห้องสมุด ห้องประสานงานนักเรียนต่างชาติ ห้องจัดการด้านธุรการต่าง ๆ และห้อง Multimédia ซึ่งเป็นห้องรวมอุปกรณ์สื่ออิเลคทรอนิคส์ต่าง ๆ เป็นห้องสำหรับดูหนังและใช้อินเตอร์เน็ต แต่ขอ ‘นินทา’ นิดนึงว่า อุปกรณ์ของเค้าก็ไม่ได้ทันสมัยเท่าไหร่ มีปัญหาตลอดเหมือนกัน ผู้เขียนเคย ‘ปากเสีย’ พูดว่า “ก่อนมาฝรั่งเศส นึกว่าฝรั่งเศสเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีทันสมัยซะอีก” พวกครูและเจ้าหน้าที่ รีบแก้ตัวเป็นพัลวันว่า “ที่นี่เป็นหน่วยราชการต่างจังหวัด งบก็น้อย นี่ไม่ใช่ภาพลักษณ์โดยรวมของฝรั่งเศสนะ” ฟังแล้วก็ขำดี สรุปว่า ทุกที่ก็เหมือนกัน มีส่วนที่ทันสมัยไฮเทค แล้วก็มีส่วนที่ไกลปืนเที่ยง ห่างไกลความเจริญ

สำหรับ ที่พัก โรงเรียนจัดให้นักเรียนต่างชาติพักอยู่ตึกเดียวกัน แยกต่างหากจากนักเรียนฝรั่งเศส (ที่นี่เป็นหน่วยศึกษามีหลักสูตรของ gendarmerie หลายหลักสูตรค่ะ) ตึกนอนอยู่ห่างจากตึกเรียนประมาณ 200 เมตร ทุกคนพักอยู่คนละห้อง ห้องพักเล็กมาก ๆ ในห้องมีเตียงเดี่ยว 1 เตียง โต๊ะทำงานพร้อมเก้าอี้ 1 ชุด แล้วก็โคมไฟเท่านั้นค่ะ โชคดีที่ยังมีห้องน้ำในตัว ทั้งห้องอาบน้ำและส้วม ตอนแรกวิตกอยู่ค่ะ เพราะเคยได้ข่าวว่าต้องใช้ห้องน้ำรวม ถ้าอย่างนั้นคงลำบากเหมือนกัน ชั้นล่างสุด มีห้องครัวรวม ห้องดูโทรทัศน์รวม ห้องสันทนาการรวม (มีโต๊ะปิงปองกับโต๊ะเบบี้ฟุตให้ไปเล่นได้ แต่ช่วงหลัง ๆ พวกเพื่อนมุสลิมใช้เป็นที่ละหมาดด้วย!!) ตอนแรกนึกว่า ดีเหมือนกัน จะได้ลงมาสังสรรค์กับเพื่อน ๆ ปรากฏว่า ผู้เขียนกลับไม่ชอบลงมา เพราะไม่อยากแย่งกันทำอาหาร แย่งกันดูโทรทัศน์ ผู้เขียนเลยเน้นออกไปหาอะไรทำข้างนอกมากกว่าค่ะ
เรื่อง อาหารการกิน ทุกคนจะได้รับแจกการ์ดคนละใบ เพื่อใช้รูดเข้าโรงอาหาร เราไม่ต้องจ่ายเงิน แต่ต้องไปทานตามเวลาที่กำหนดทั้ง 3 มื้อ ก็คงเหมือนกับ mess ทั่วไป คือ ถือถาดเข้าไปเลือกอาหารประเภทละอย่าง ตั้งแต่ entrée (อาหารเรียกน้ำย่อย) – อาหารจานหลัก – ของหวาน – เครื่องดื่ม แต่ที่ฝรั่งเศสนี่ จะมีเพิ่มอีก 2 อย่างคือ เนยแข็งชนิดต่างๆ และไวน์ ซึ่งมีทั้ง ไวน์แดง ไวน์ขาว ไวน์ชมพู กดดื่มได้ไม่อั้น ฉะนั้น เพื่อนบางคนก็เดินหน้าแดงแป๊ดออกไปหลังอาหารมื้อเย็นค่ะ ส่วนตัวผู้เขียนแล้ว ค่อนข้างไม่มีความสุขเรื่องอาหารการกิน (แต่ก็ยังอ้วนกลับมา) เพราะจะต้องเดินไปประมาณ 1 กม.ข้ามไปอีกฝั่งหนึ่งของโรงเรียนกว่าจะถึง mess แล้วไหนจะเดินกลับอีก ยิ่งช่วงฤดูหนาว ต้องสละมื้อเย็นบ่อย ๆ เพราะทนหนาวไม่ไหว แต่เราจะไปทานที่ mess นี้ เฉพาะมื้อกลางวัน-เย็น ส่วนมื้อเช้า เค้ามีเปิดห้องเล็ก ๆ ใกล้กับตึกนอนให้ไปทานอาหารเช้าประเภทครัวซองต์ ขนมปังทาเนย คอร์นเฟลก นม กาแฟ ได้ค่ะ เรื่องอาหารนี้ ขนาดผู้เขียนซึ่งเป็นคนทานอาหารฝรั่งได้ แต่พอนาน ๆ เข้า ก็เริ่มไม่ไหว ต้องแอบพกพริก พกกระเทียม โยนเข้าไปคลุกในอาหาร พอเพื่อน ๆจับได้ ก็พากันรังเกียจเดียดฉันท์ เพราะเหม็นกระเทียม ทั้ง ๆ ที่ผู้เขียนก็เหม็นพวกเพื่อน ๆ มานานแล้ว (อาหารแขกน่ะค่ะ กลิ่นแรงใช่ย่อยซะที่ไหน) ผู้เขียนเลยเปลี่ยนเป็น tabasco แทน คราวนี้ เพื่อน ๆ มาขอแบ่งด้วยกันใหญ่ ไม่ซื้อเองกันเลย!! (อุ๊ย…ใส่อารมณ์อีกแล้วค่ะ) นอกจากนี้ บางวันผู้เขียนก็โมโหหิว เพราะอาหารจานหลักไม่มีอะไรให้เลือก นอกจาก เนื้อแกะ(เหม็น ๆ) กับ เนื้อกระต่าย(กระดูกเป็นล้านน่ะค่ะ!!) ผู้เขียนก็บ่นกับเพื่อนว่า คนฝรั่งเศสกินอะไรกันแปลก ๆ กินไม่ลงหรอก อยากกลับเมืองไทย มากิน ‘หนอนรถด่วน’ กับ ‘ดักแด้ทอด’ ดีกว่า (ว่าแล้ว เพื่อนก็ แหวะ! กันอย่างพร้อมเพรียงค่ะ สนุกจริง ๆ!)
สำหรับ เพื่อนต่างชาติ ผู้เขียนมีเพื่อน 20 คน จาก 16 ประเทศ (อินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา ปารากวัย ตุรกี ยูเครน เซอร์เบีย ไนจีเรีย กานา โมซัมบิก นามิเบีย กินี จิบูติ โมร็อคโค เลบานอน จอร์แดน) นอกจากนี้ ยังมีเพื่อนต่างหลักสูตรอีกประปราย เช่น ซาอุดิอาระเบีย กาตาร์ อินเดีย เป็นต้น ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ผู้เขียนต้องตื่นแต่ตี 5 ทุกวัน เพราะเพื่อนรอบห้องเปิดเทปละหมาดกัน ได้บรรยากาศไปอีกแบบค่ะ เพื่อน ๆ ส่วนใหญ่ก็จะนิสัยดี แต่บางทีก็มีทะเลาะกันบ้าง ผู้เขียนมีเพื่อนสนิทหลายคนทั้งผู้หญิง ผู้ชาย ทั้งเพื่อนเที่ยวสนุกสนาน และเพื่อนระดับลุง ๆ ป้า ๆ ที่โอบอ้อมอารี ทำให้ผู้เขียนหายเหงาได้มาก อีกอย่างคือ ผู้เขียนค่อนข้างจะเป็นที่รักของเพื่อน ๆ (หลงตัวเองสุด ๆ) บางที เพื่อนรักมากไปหน่อย จนผู้เขียนต้องระวังไม่ให้ ‘เพื่อน’ มา ‘ลวนลาม’ อาจเป็นเพราะหลักสูตรนี้มีผู้หญิงน้อย แล้วพอดีผู้เขียนก็สวยด้วย (เอ้า…เอาเข้าไป!!) ที่เล่านี้ ก็เพราะต้องการให้เป็นอุทาหรณ์ว่า การเป็นผู้หญิงไปอยู่ต่างประเทศคนเดียวก็อันตรายเหมือนกัน โดนเพื่อนผู้ชายมาเคาะห้องหลายคน (ไม่ได้โม้!!) ใช้มุขหว่านล้อมต่างๆกันไป บางครั้งถ้าอยู่คนเดียว ก็อาจถูกลวนลามโดยไม่รู้ตัว (ต้องศึกษาเหมือนกันนะคะ ว่าพฤติกรรมไหน ที่เรียกว่า ‘วัฒนธรรม’ หรือเป็นการ ‘ฉวยโอกาส’) ยิ่งพวกนั้นรู้ว่า ผู้เขียนไม่โวยวาย (เพราะว่า ชอบ เอ้ย!! เพราะไม่อยากให้เกิดเรื่องใหญ่ค่ะ) ก็เลยยิ่งไม่เกรงใจ ผู้เขียนจึงต้องแก้ปัญหาด้วยการระวังตัวเอง คอยเกาะเพื่อนที่ไว้ใจได้ให้ช่วยดูแล พยายามไม่เดินคนเดียว ใช้ความสามารถพิเศษป้องกันตัวเอง เป็นต้น ตื่นเต้นตลอดค่ะ (แหม...อยู่เมืองไทย ทำไมไม่ ‘ป๊อปปูล่าร์’ แบบนี้บ้างนะ)
มาถึงเรื่องการเรียนบ้างดีกว่า หลักสูตรนี้ผู้เขียนว่า ยากเหมือนกันค่ะ ไม่ใช่สำหรับ ‘เรียนภาษา’ เลย เพราะเพื่อนหลายคนก็มาจากประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสอยู่แล้ว ก่อนเดินทาง ผชท.ฝศ. ก็ขู่ไว้ล่ะค่ะ แต่ผู้เขียนไม่สำนึก เลยไม่ได้เตรียมตัวฟื้นภาษาฝรั่งเศสมากนัก พอไปถึงก็ ‘เหวอ’ ไปซักพัก แต่ก็ค่อยๆปรับตัวได้ พอไปถึง เค้าให้สอบแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 6-7 คน วิชาที่เรียนก็เกี่ยวกับการสอนภาษาฝรั่งเศส ทั้งไวยากรณ์ การออกเสียง เทคนิคการสอน ศัพท์ทหาร วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และมีการเตรียมตัวสอบวัดระดับภาษาฝรั่งเศส (DELF-DALF) ด้วย ส่วนครูผู้สอนก็ใจดี มีความเป็นกันเอง และเป็นครูที่สอนมานาน รู้จักนักเรียนไทยหลายรุ่น และประทับใจพวกเรากันทั้งนั้น ตลอดหลักสูตร ผู้เขียนได้รับมอบหมายงานหลายชิ้น และมีการสอบหลายครั้ง ทั้งสอบข้อเขียนและสัมภาษณ์ นอกเหนือจากการเรียนในห้อง โรงเรียนก็ยังพาไปทัศนศึกษาวันเสาร์ สัปดาห์เว้นสัปดาห์ โดยพาไปเที่ยวเมืองใกล้เคียงต่างๆ ตามที่เล่าให้ฟังในตอนที่แล้ว มีพาไปเมืองใหญ่ ๆ อย่างเมือง Bordeaux (บอร์โดซ์) และมีไปเที่ยวไกลถึงปารีสด้วย (แต่ละรุ่น พาไปที่ต่าง ๆ กันค่ะ) บางครั้งก็พาไปดูงานตามหน่วยต่าง ๆ เช่นตำรวจศุลกากร หน่วยสุนัขตำรวจ ฐานทัพอากาศ ฯลฯ ช่วงเย็น โรงเรียนก็จัดกิจกรรม เช่น สอนเล่นเกมส์ฝึกทักษะภาษาฝรั่งเศส จัดแข่งเปตอง ฉายหนังฝรั่งเศสพร้อมผู้อธิบาย สรุปว่า ทางโรงเรียนก็พยายามจัดสิ่งดีๆให้แก่นักเรียนต่างชาติ ประสานงานอำนวยความสะดวกให้ทุกอย่าง สร้างความประทับใจให้ผู้เขียนเป็นอย่างมาก




วันนี้คงต้องจบแค่นี้ก่อนค่ะ คราวหน้า ผู้เขียนจะเล่าให้ฟังถึงเรื่อง การไปเยี่ยมชมโรงเรียนนายร้อยแซงต์ซีร์ เป็นเวลา 1 สัปดาห์ หลังจากที่ผู้เขียนจบหลักสูตร ซึ่ง ผชท.ฝศ.จัดให้เป็นกรณีพิเศษ และผู้เขียนมีความประทับใจมากมาย ติดตามอ่านในตอนต่อไปนะคะ วันนี้ขอลาทุกท่านไปก่อน สวัสดีค่ะ บ๊าย บาย